มหาลัยชีวิตกลางทะเลทราย

 เดินทางเพื่อสานต่อความฝัน ณ ประเทศคูเวต




 หากไม่นับจังหวัดท่าขี้เหล็กประเทศพม่าที่ติดกับชายแดนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายแล้วละก็   คูเวตถือว่าเป็นประเทศแรกที่ผมได้มีโอกาสเดินทางมามาสัมผัสกลิ่นไอและสูดดมอากาศนอกประเทศ

สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการเดินทางมาคูเวตก็เพื่อมาทำงานเก็บเงินสำหรับเรียนต่อ ป.ตรี ตามที่เคยได้วาดฝันเอาไว้





2 August 1990   คือวันที่อิริกเคลื่อนทัพเข้าไปยืดครองประเทศคูเวต  และส่งผลทำให้เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียตามมา   จนกระทั่งสงครามได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 28 February 1991   ดังที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว (รายละเอียดเกี่ยวกับสงครามอ่าวเปอร์เซีย (Gulf War )  อ่านได้ที่นี = > สงครามอ่าวเปอร์เซีย




      พิษของสงครามส่งผลให้ประเทศคูเวตเกิดการเสียหายอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเขตอุตสาหกรรมน้ำมันที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ  ซึ่งมีการระเบิดคลังน้ำมันดิบและเผาทำลายบ่อน้ำมันเป็นจำนวนมาก









เมื่อมีความเสียหายก็ต้องมีการบูรณะซ่อมแชม

เมื่อสงครามสิ้นสุด...อเมริกาซึ่งเป็นหัวหน้าทีมในปฏิบัติการพายุทะเลทรายในครั้งนั้น    ก็ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลคูเวตให้เป็นผู้นำในการดับไฟบ่อน้ำมันรวมถึงการบูรณะซ่อมแซมประเทศ  และมีการประกาศรับสมัครแรงงานและนำเข้าแรงงานจากประเทศต่างๆ ซึ่งรวมแล้วก็เกือบสามสิบประเทศ


ขณะนั้น ผมทำงานเป็นช่างเทคนิคอยู่ในโรงงานแห่งหนึ่ง  รายได้ตามวุฒิ ปวส ก็ตกราวเกือบสามพันถึงสามพันต้น  ซึ่งรวมรายได้ต่อเดือนก็ประมาณสามพันกว่าบาทถึงสี่พัน ขึ้นอยู่จำนวนชั่วโมง  O.T.       รายรับแต่ละเดือนเมื่อหักค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายอืนๆแล้วทำให้แต่ละเดือนมีเงินเก็บไม่ถึงพันบาท  

จากรายได้ที่เหลือเก็บในแต่ละเดือนหากเอามาคำนวนดูแล้ว  ต้องใช้เวลาถึงประมาณสิบปี กว่าจะเก็บเงินได้หลักแสนเพื่อเป็นทุนสำหรับศึกษาต่อในหลักสูตรที่เคยวาดฝัน


และเมื่อมีการประกาศรับช่างฝีมือเพื่อไปทำงานที่คูเวต ผมกับเพื่อนสนิทจึงได้เดินทางไปลองสมัครดู

ผมเองสมัครในตำแหน่งช่างไฟฟ้า   และหลังจากพูดคุยและสัมภาษณ์เรียบร้อยบริษัทนายหน้าก็เสนอค่าตอบแทนให้เดือนละหนึ่งหมื่นบาท + อาหาร & ที่พัก  พร้อมด้วยตั๋วเครื่องบินไป-กลับ

สัญญาจ้างงานเป็นแบบปีต่อปีภายใต้โปรเจ็คที่ชื่อว่า  fire fighting team support   หรือเป็นทีมที่สนับสนุนทีมดับไฟบ่อน้ำมันนั่นเอง 

ซึ่งทีมงานดับไฟ เทคโนโลยีรวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการดับไฟบ่อน้ำมันในครั้งนี้นั้นส่วนใหญ่ก็ล้วนนำเข้ามาจากอเมริกา  ประมาณได้ว่าอเมริการับกินเรียบ





ช่วงที่เดินทางไปถึงนั้นยังมีบ่อน้ำมันที่ถูกเผาลุกไหม้อยู่อีกประมาณ 700 หลุม  ซึ่งตามคาดการณ์อาจต้องใช้เวลาในการดับไฟถึง  3 ปี โดยประมาณ      แต่ระยะหลังๆได้มีการเอาเทคโนโลยีการดับไฟจากบางประเทศแถบยุโรปและอื่นๆเข้ามาช่วย ก็เลยทำให้การดับไฟเสร็จเป็นที่เรียบร้อยภายในไม่ถึง 2 ปี




ช่วงที่บ่อน้ำมันยังลุกติดไฟอยู่นั้น   ทะเลทรายที่อยู่บริเวณใกล้เคียงก็จะถูกปกคลุมด้วยเขม่าไฟที่เกิดจากการเผาไหม้บ่อน้ำมัน   ซึ่งทำให้ทะเลมีสภาพดูเหมือนถูกหิมะสีดำปกคลุมไปทั่วพื้นที่ ดังรูป 

ตัวอย่าง    สภาพแท๊งค์เก็บน้ำมันดิบที่พังยับเยินเพราะโดนระเบิดถล่ม



      สำหรับสัญญาจ้างงานเพจเก็จนี้เมื่อบวกลบคูณหารแล้วมันอาจจะทำให้ผมมีเงินเก็บมากกว่าทำงานอยู่เมืองไทยถึง 10 เท่าตัวโดยประมาณ    ดังนั้นผมจึงตกลงและเซ็นต์สัญญาตอบรับการจ้างงานและออกเดินทางเข้าสู่มหาวิทยาลัยชีวิตกลางทะเลทรายเมื่อประมาณกลางเดือนกันยายน 1991 หรือ พ.ศ.  2534


ขาแข็งและแทบหมดแรงก้าวออกจากสนามบิน

วันเซ็นต์สัญญากับวันเดินทางจริงนั้นต้องบอกเลยว่าคนละอารมณ์ .....  วันที่มาสมัครและเซ็นต์สัญญานั้น เรามาด้วยหัวใจที่ฮึกเหิมและเต็มไปด้วยความหวัง   

แต่พอถึงวันที่ต้องเดินทางจริงๆนั้นต้องยอมรับว่าใจหายวูบเลย....เกิดอาการกล้าๆกลัวๆและสับสนอย่างบอกไม่ถูก  ประมาณว่าอีกด้านหนึ่งก็อยากมีที่ดินเล็กๆสัก 20 ตารางวาเป็นของตัวเองเพื่อให้แม่และน้องๆได้ปลูกกระท่อมอยู่แบบไม่ต้องไปอาศัยอยู่ในที่ดินของคนอื่นเขา   แต่อีกด้านหนึ่งก็เกิดความกลัวอย่างบอกไม่ถูกเนื่องจากที่ผ่านมาข่าวร้ายเกี่ยวกับตะวันออกกลางนั้นมีมากเหลือเกินนั้นคือคนไทยจำนวนไม่น้อยถูกหลอกไปลอยแพ    (ประมาณดังเพลงต่อไปนี้)







ณ วันนั้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องเดินไปขึ้นเครื่องผมเองเดินก้าวขาแทบไม่ออกและแทบอยากหันหลังกลับ

แต่เมื่อนึกแม่และน้องๆที่รออยู่ รวมถึงคำของพ่อที่ได้ฝากความหวังไว้ก่อนจากไป ได้บอกว่าถ้าเอ็งได้ดีแล้วอย่าทิ้งแม่และะน้องๆนะลูก  ก็ทำให้เกิดแรงฮึดและกัดฟันบอกตัวเองว่า  "เอาว๊ะ  เป็นไงเป็นกันตายเป็นตาย  ไปตายเอาดาบหน้าดีกว่าอยู่แบบมองไม่เห็นอนาคต " 


ช่วงแรกๆออกอาการซืม

     
     เนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์ก็เลยนึกภาพไม่ออกว่าสภาพงานที่จะต้องไปเจอนั้นจะเป็นอย่างไร  ก่อนมาก็จินตนาการไปว่าลักษณะงานมันก็น่าจะคล้ายๆหรือใกล้เคียงกับงานช่างซ่อมบำรุงที่ทำอยู่ประจำในโรงงาน

เมื่อมาถึงทุกอย่างจึงกระจ่าง ... ลักษณะงานที่เจอทั้งหมดนั้นนั้นค่อนข้างแตกต่าง  ลักษณะงานส่วนใหญจะเหมาะสำหรับช่างฝีมือมากกว่า .... กล่าวคือใช้เพียงทักษะ หรือ skill ที่เคยทำอยู่ประจำๆก็เป็นอะไรที่เพียงพอ ส่วนใหญ่เป็นการทำงานหน้าเดียว เช่น ดัดท่อเดินสายไฟก็ทำเฉพาะอย่างไป  ถนัดเข้าหัวสายก็ทำไป  ถนัดติดตั้งตู้ไฟก็ติดตั้งไป  ไม่ต้องใช้ความรู้ทางด้านเทคนิคในการแก้ปัญหา

ความรู้ ปวส. ช่างไฟ  ที่มีอยู่ต้องเก็บใส่กระเป๋าไว้ชั่วคราวและทำงานภายใต้การกำกับของโฟร์แมนที่ส่วนใหญ่เติบโตมาจากช่างผู้ทำนาน 


นอกจากนั้นยังต้องทำงานอย่างอื่นนอกเหนือสโคปตามที่ตกลงในสัญญา ....   เช่น งานเชื่อม  งานช่างไม้ ทาสี  รวมถึงงานใช้แรงงานอื่นๆเช่น  เช่น ขนหิน ขนทราย มุงหลังคา ขุดหลุมฝังขยะเป็นต้น.... บ่อยครั้งถึงกับท้อและแทบหมดความอดทน และบ่อยครั้งที่ต้องนอนหลับไปพร้อมกับคราบน้ำตา

ประเทศนี้มีสองฤดูคือฤดูโครตร้อนกับโครตหนาว ช่วงเวลาหน้าร้อนอุณหภูมิก็จะขึ้นไปสูงถึง 50 'C กว่าๆส่วนช่วงหน้าหนาวอุณหภูมิก็ลดลงมาถึง 0'C หรือบางครั้งถึงกับติดลบเลยที่เดียว (ภาพนี้ถ่ายต้องใส่เสื้อหลายชั้นจนตัวกลมเลยที่เดียว)

@ ด้านหน้า work shop   

@ work shop ช่างไม้     ส่วนคนที่ยืนอยู่ด้านหลังคือโฟร์แมนช่างไม้ ซึ่งเป็นชาวอียิปต์

หลังสงครามพื้นที่ในคูเวตกลายเป็นพื้นที่ที่อันตราย  เนื่องจากพื้นที่เป็นทรายทำให้ระเบิดหลายๆลูกไม่ระเบิดและมีระเบิดที่ยังหลงเหลืออยู่อีกจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งระเบิดสังหารบุคคลและระเบิดที่เป็นกับดักรถและระเบิดรถถังและอื่นๆ

 ดังนั้นการเดินทางในคูเวตจะต้องเดินทางในบริเวณช่องทางที่ทำการเคลียร์หรือตรวจค้นวัตถุระเบิดแล้วเท่านั้น ซึ่งจะ safety barricade tape  กั้นเป็นแนวไว้ให้เดิน  
รูปในกรอบสีส้มด้านบนคือตัวอย่างระเบิดชนิดต่างๆที่ยังคงหลงเหลืออยู่  ซึ่งเป็นการเตือนให้ระวังว่า หากพบเจอวัตถุที่มีรูปร่างดังกล่าวขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่และอย่าเข้าไปแตะต้องเด็ดขาด

ใกล้ๆกับที่ทำงานจะเป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ (ด้านหน้า ฮ. เป็นโรงพยาบาล ด้านหลังเป็น workshop)   ซึ่งใช้สำหรับอำนวยความสะดวกและรับส่งผู้ป่วยหรือศพผู้เสียชีวิต ที่ตกเป็นเหยื่อของระเบิดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในภาคสนาม

... ตอนนั้นฝันอยากขึ้น ฮ.   และเมื่อทุกๆครั้งที่เฮลิคอปเตอร์บินมาจอดหน้าเวิร์คช๊อปก็มักจะเข้าไปดูใกล้ๆและลูบๆคลำๆ...และก็ฝันกลางวันว่าสักวันหนึ่งคงได้มีโอกาสได้นั่งบ้าง.



เพื่อนๆคนไทยที่ทำงานด้วยกัน   ส่วนสิ่งที่กำลังอุ้มอยู่นั้นคือปลอกกระสุนปืนใหญ่ ซึ่งเอามาแต่งเติมให้เหมือนกระสุนจริงและถ่ายรูปเล่นๆกัน

ถ่ายรูปหมู่กับเพื่อนๆชาวฟิลิปปินส์   ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช่างปะปา ช่างไม้  ช่างทาสีและอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามทั้งหมดถือได้ว่าเป็นครูก็ว่าได้ ซึ่งเป็นผู้ให้ความรู้ภาษาอังกฤษภาคปฏิบัติขั้นพื้นฐานในวันนั้น  ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดใช้งานได้เป็นอย่างดีในปัจจุบัน

ขวามือคือ โฟร์แมนช่างไฟฟ้า  ซึ่งเป็นชาวอียิปต์ 



ที่ คูเวต ซิตี้ (Kuwait City)

ถ่ายรูปคู่กับคุณลุง ซึ่งเป็นคนท้องถิ่น 

ได้เงินแสนเมื่อไหร่ ตรูกลับบ้านแน่ๆ

  จากความไม่ลงตัวของงาน สภาพแวดล้อม และสภาพอากาศที่โหดร้าย  (ที่มีสองฤดูคือโครตร้อนกับโครตหนาว) รวมถึงอุปนิสัยของผู้คนที่แตกต่างเมื่ออยู่ในต่างแดน   ซึ่งก็ทำให้ถึงกับท้อและบอกกับตัวเองว่าว่า  " ตรูเก็บเงินได้ครบแสนเมื่อไหร่ จะขอลากลับบ้านแน่นอน "

     ณ ช่วงเวลาดังกล่าวต้องยอมรับว่าความท้อได้สอดแทรกเข้ามาในชีวิตแบบนับครั้งไม่ถ้วน ภูมิต้านทานแบบไม่เหลือและร่ำร้องอยากกลับบ้านทุกสัปดาห์    

     แต่อย่างไรก็ตามเป้าหมายที่เคยฝันไว้ก่อนเดินทางมานั้นถือว่าเป็นอะไรที่ช่วยให้ชีวิตมีความต้านทานมากขึ้นและเป็นเครื่องมือช่วยพิฆาตความท้อถอยได้เป็นอย่างดี และทำให้สามารถอดทนอยู่ถึง 18 เดือน

ขอบคุณมหาลัยชีวิตกลางทะเลทราย

    ผมถูกจัดอยู่ในกลุ่มแรงงานที่อายุน้อยที่สุดที่เดินทางมาร่วมงานกับโปรเจ็คนี้ ในจำนวนแรงงานที่เดินทางมาทำงานจากเกือบสามสิบประเทศ     ดังนันจึงมักมีหลายๆคนบอกผมและถามว่า " โปรเจ็คนี้เขามีแต่พวกเก๋าๆและสิงห์ทะเลทรายทั้งนั้น   เอ็งยังเด็กน้อยและวุฒิการศึกษาก็มี  มรึงมาทำห่าอะไรที่นี่ ? ทำไมไม่อาบน้ำกินนมนอนอยู่ที่บ้าน? "  

   

ซึ่งช่วงนั้นผมก็เด็กน้อยจริงๆและก็ตอบไปแบบซื่อๆว่า ผมอยากได้เงินไปเรียนต่อวิศวะ ....

    ซึ่งบางคนได้ฟังก็บอกว่า " เออ เอ็งนี่ลูกบ้าดีว๊ะ " ส่วนบางคนก็บอกว่า " หน้าตาและสารรูปอย่างเอ็งนี่หรือจะเรียนวิศวะ ? "    ซึ่งถือว่าเป็นอะไรท้าทายและเป็นแรงผลักดันที่สำคัญเลยที่เดียว

     ในหลายๆครั้งที่ต่างคนต่างมีอาการคิดถึงบ้านส่วนใหญ่ก็มักจะนั่งจับเข่าพูดคุยระบายปัญหาทุกข์สุขซึ่งกันและกัน    และจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันนี่เองก็เลยทำให้เข้าใจว่าแต่ละคนที่เดินทางมาที่นี่นั้นไม่ธรรมดาเลย ...... มีจำนวนไม่น้อยเลยที่เดียวที่ต้องแบกภาระอันยิ่งใหญ่มากับการเดินทางในครั้งนี้ ....  บ้างก็เพื่อพ่อแม่ & ปู่ย่าตายาย    บ้างก็เพื่อลูกเมีย และบ้างก็แบกภาระหนี้สินที่เกิดจากการทำนาทำไร่หรือบ้างก็ต้องจำนองไร่นามาเพื่อเป็นค่านายหน้าและเป็นค่าเดินทางมาทำงานที่นี่    ซึ่งถือว่าเป็นอะไรหนักเอาการเลยที่เดียว

ส่วนผมเมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆคนแล้วต้องนับว่ายังเป็นอะไรที่โชคดี ที่ขณะนั้นยังโสดและยังไม่มีลูกเมียให้ต้องคิดถึง ..... ณ วันนั้นมีเพียงสัญญาใจที่ให้ไว้กับดวงวิญญาณพ่อเท่านั้นว่า จะทำให้แม่และน้องๆได้มีที่อยู่เป็นของตัวเองโดยที่ไม่ต้องไปอาศัยอยู่บนที่ดินของใครอีก  และจะนำปริญาใบแรกมาสู่หมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ให้จงได้ ...

ขอขอบคุณหมาลัยชีวิตกลางทะเลทราย

   ช่วงแรกๆ โลกอาจจะไม่สวยงามเท่าไหร่นัก  ซึ่งอาจมีการ ซึม เศร้า และเซ็ง  ตามสถานะการณ์และสภาพแวดล้อม ....  แต่อย่างไรก็ตามผมคงไม่ลืมและต้องขอขอบคุณมหาลัยชีวิตกลางทะเลทราย  ที่สอนให้รู้จักชีวิตและรู้จักกับค่ำว่า อดทน อดทน และอดทน   และเป็นแรงผลักดันอันยิ่งใหญ่จนกระทั่งทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังที่ตั้งใจไว้ .... และสามารถนำปริญญาวิศวกรรมไฟฟ้ามาแปะไว้ข้างฝาบ้านได้สำเร็จในเวลาต่อมา  ซึ่งก็นับว่าเป็นปริญาใบแรกของหมู่บ้านเล็กๆกลางทุ่งนาที่เป็นถิ่นเกิดของแม่






No comments:

Post a Comment