50 ปีแดนลอดช่อง เงินทองต้องสิงคโปร์ ท่องเที่ยวพักฟื้นต้องไทย!
ปีแพะ สำหรับชาวสิงคโปร์ 5 ล้านคน จะเป็นปีแห่งความภาคภูมิใจของประเทศเล็กๆ ที่มีอายุครบ 50 ปี หลายคนมักพูดถึงสิงคโปร์อย่างนั้น สิงคโปร์อย่างนี้ เมืองไทยอย่างนั้น เมืองไทยอย่างนี้ ได้ยินแล้วทำให้มีคำถามว่า ทำไมเกาะเล็กๆ ที่มีขนาดไม่ได้แตกต่างจากเกาะภูเก็ตของไทย ถึงได้เก่งกาจเกือบจะทุกเรื่อง และก็มีหลายเรื่องที่เมืองลอดช่องก็ไม่เก่งเท่าเมืองไทย คำตอบอยู่ที่คุณภาพคน คุณภาพการศึกษา ประสิทธิภาพการใช้กฎหมาย สำคัญที่สุด คือ วิธีคิด ที่มีความแตกต่างกันของคนทุกระดับในทั้ง 2 ประเทศ แต่ผลสำรวจของทั้งสิงคโปร์ และไทยล่าสุด คงบอกอะไรได้หลายอย่าง
ผมได้อ่านผลการสำรวจล่าสุดในรายงานที่มีชื่อว่า กองทุนบริหารจัดการความมั่งคั่งโลก ซึ่งเปิดเผยโดย บริษัท ไพรซ์วอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ พบว่า ในการสอบถามผู้จัดการการเงิน ผู้จัดการกองทุนกว่า 200 คน ใน 51 ประเทศทั่วโลก ทั้งหมดยอมรับว่า สวิตเซอร์แลนด์ จะสูญเสียตำแหน่งศูนย์กลางการเงินโลกให้กับสิงคโปร์ภายใน 2 ปีข้างหน้านี้อย่างแน่นอนสิงคโปร์ทำได้อย่างไร? สิงคโปร์มีการเตรียมความพร้อมในทุกด้านเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานการเงิน กฎหมาย และระเบียบการเงิน รวมถึงความโปร่งใสด้านการบริหารศูนย์กลางการเงิน ในขณะที่ ผลสำรวจดังกล่าวระบุต่อไปว่า หากศูนย์กลางการเงินของโลก เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง ลอนดอน และนิวยอร์ก ต้องการรักษาความสามารถในการแข่งขัน ทุกวันนี้ สวิตเซอร์แลนด์ ครองอันดับ 1 ศูนย์กลางการเงินของโลก ตามด้วยอันดับ 2 คือ สิงคโปร์ ส่วนอันดับ 3 คือ กรุงลอนดอน อันดับ 4 เป็นของฮ่องกง และอันดับที่ 5 คือ นิวยอร์ก ในขณะเดียวกัน ผลการศึกษาดังกล่าว ระบุว่า ศูนย์กลางการเงินในตลาดเกิดใหม่ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และน่าจับตามอง คือ เซี่ยงไฮ้ ดูไบ ตามด้วย บราซิล และเม็กซิโก แน่นอนว่า ลุ้นกรุงเทพมหานครไม่ขึ้นเลยแม้แต่น้อยในรายงานนี้ หรือแม้แต่ในอุตสาหกรรมประเภทนี้!
ผมได้มีโอกาสอ่านนิตยสารที่มีชื่อว่า เพเทียนส์ บียอนด์ บอร์เดอร์ หรือ Patients Beyond Borders ซึ่งเป็นนิตยสารชั้นนำที่จัดพิมพ์คู่มือการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพระหว่างประเทศประจำปี 2013 ก็ทำให้รู้สึกเป็นปลื้มขึ้นมาว่า ประเทศไทยได้รับการจัดให้ครองอันดับ 1 ตลาดท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพทั่วโลกประจำปีนี้ เพราะไทยมีความหลากหลายด้านการบริการรักษาสุขภาพที่คุ้มค่ากับที่สุดของโลกเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ หัวใจเลยอยู่ที่ ไทยมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนด้านการรักษาดูแลสุขภาพถูกกว่าสหรัฐฯ ประมาณ 50%-70% นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อนเพื่อใช้บริการด้านท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ 1.2 ล้านคน จากตลาดรวมทั้งหมดที่มีคนเดินทางถึงปีละ 7 ล้านคนทั่วโลก มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1.24 ล้านล้านบาท
อันดับ 2 เป็นของเม็กซิโก ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพเข้าไปกว่า 1 ล้านคนในปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันทางตะวันตก อันดับ 3 ของโลกเป็นของสหรัฐอเมริกา มีจำนวนนักท่องเที่ยวไปใช้บริการดูแลรักษาสุขภาพประมาณ 800,000 คน ท่ามกลางค่าใช้จ่ายสูง แต่สหรัฐฯ ก็ยังครองอันดับ 3 ในแง่ประเทศที่นักท่องเที่ยว หรือผู้ป่วยเดินทางเข้าไปบ่อยครั้งที่สุดในปีที่ผ่านมา มาดูสิงคโปร์ ที่ครองอันดับ 4 ในการจัดครั้งนี้ โดยในปีที่แล้วต้อนรับนักท่องเที่ยวเข้าไปใช้บริการดูแลรักษาสุขภาพราว 610,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอินโดนีเซีย แต่ความน่าสนใจของสิงคโปร์มีความหมายมากกว่าอันดับ 4 ของโลกในปีนี้ คือ ครองอันดับ 4 ในปีที่แล้วอีกต่างหาก ในฐานะนักท่องเที่ยวพักผ่อนเพื่อสุขภาพย้อนกลับมาใช้บริการบ่อยครั้งที่สุด! ส่วนไทยไม่ติดอันดับประเภทนี้เลย
คนไทยมักจะได้ยินคำพูดที่ว่า “อโรคยา ปรมาลาภา” แปลว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ คนต่างชาติมักสอนความจริงที่ว่า ต้องหาเงิน (เป็น) ต้องเก็บเงิน (เป็น) และต้องใช้เงิน (เป็น) เพื่อให้เงินทำงานแทนชีวิตเรา วิธีคิดผ่านคำสอนเหล่านี้ จึงน่าจะสะท้อนผลสำรวจที่ว่า ศูนย์กลางการเงินของโลกต้องสิงคโปร์ ตลาดท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของโลกต้องไทย !!!
Cr: คนดังนั่งเขียน โดย บัญชา ชุมชัยเวทย์ 30 มี.ค. 2558)
นสพ. http://www.thairath.co.th
No comments:
Post a Comment